อโกด้า (Agoda) คือเว็บไซต์จองโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีโรงแรม 1,391,079 แห่ง มากกว่า 15 ล้านรีวิว

วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ความหมายวันสงกรานต์

นอกจากเทศกาลปีใหม่ที่หลายคนรอคอย โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่
เข้ามาทำงานที่กรุงเทพแล้ว ยังมีเทศกาลวันสงกรานต์ ที่มีวันหยุดที่ยาวๆ ทำให้หลายคนได้ใช้วันหยุดในช่วงวันสงกรานต์นี้ พักผ่อน ด้วยการออกเที่ยวในช่วงเทศกาล หรือ กลับไปรวมญาติ ซึ่งนอกจากจะชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำแล้ว ยังมีความสุขกับการได้พบหน้า หรือการได้อยู่กันแบบพร้อมหน้าของครอบครัวกันอีกด้วย ซึ่งประเพณีสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทยเป็นประเพณีที่มีการอนุรักษ์ไว้เพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอดประเพณีอันดีงามสืบต่อกันไป ซึ่งการรดน้ำ การสรงน้ำ หรือ การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ต่างก็เป็นหนึ่งในประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้
ความหมายวันสงกรานต์

สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึง ก้าวขึ้น การเคลื่อนย้ายของการเข้าสู่ราศีใหม่ หรือการเคลื่อนขึ้นของปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันกำหนดวันเวลาอยู่ในช่วงวันที่ 13 , 14 , 15 เมษายน ของทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ ส่วนวันที่ 14 เป็นวันเนา และวันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก
สงกรานต์ในประเทศไทย
ประเพณีสงกรานต์มีการสืบทอดมาแต่สมัยโบราณคู่กับตรุษ จึงเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง การส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นวันที่เริ่มใช้ปฏิทินของไทยจนถึง พ.ศ.2431 จากนั้นวันที่ 1 เมษายน ให้ยึดเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทย และใช้มาจนถึง พ.ศ.2483 จึงได้เปลี่ยนวันปีใหม่เป็น 1 มกราคมแทน ส่วนวันสงกรานต์ ถูกประกาศใช้ให้เป็นวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ซึ่งประเพณีวันสงกรานต์ มีพิธีสรงน้ำพระและพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญู และเสริมความเป็นสิริมงคล และเป็นประเพณีที่ทำสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
เทศกาลสงกรานต์ของต่างประเทศ
ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีวันสงกรานต์ หากแต่วันสงกรานต์ยังเป็นประเพณีของประเทศ ลาว กัมพูชา พม่า ชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา โดยเฉพาะเมืองจิ่งหง หรือเมืองเชียงรุ่ง และชนกลุ่มน้อยในแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังการวมถึงทางตะวันออกของประเทศอินเดีย ส่วนในต่างประเทศ จะจัดงานสาดน้ำสงกรานต์ ในวันที่ 13 - 15 เมษายน เช่นกัน
วันที่ใช้จัดงานวันสงกรานต์
วันสงกรานต์ ประเพณีไทยๆ ที่มักจะถูกจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 - 15 เมษายน ของทุกปี
ปฏิทินวันสงกรานต์
  • วันสงกรานต์ พ.ศ.2552 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2552 / วันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีฉลู
  • วันสงกรานต์ พ.ศ.2553 ตรงกับ วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ.2553 / วันอังคาร แรม ๑๔ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีขาล
  • วันสงกรานต์ พ.ศ.2554 ตรงกับ วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ.2554 / วันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีเถาะ
  • วันสงกรานต์ พ.ศ.2555 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2555 / วันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีมะโรง
  • วันสงกรานต์ พ.ศ.2556 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2556 / วันเสาร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีมะเส็ง
  • วันสงกรานต์ พ.ศ.2557 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2557 / วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีมะเมีย
  • วันสงกรานต์ พ.ศ.2558 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2558 / วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีมะแม
  • วันสงกรานต์ พ.ศ.2559 ตรงกับ วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ.2559 / วันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีวอก
  • วันสงกรานต์ พ.ศ.2560 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน พ.ศ.2560 / วันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีระกา
  • วันสงกรานต์ พ.ศ.2561 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2561 / วันศุกร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีจอ
  • วันสงกรานต์ พ.ศ.2562 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2562 / วันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีกุน

ประวัติวันสงกรานต์
ในเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ซึ่งเป็นวันและเวลาที่ตั้งต้นสู่ปีใหม่ตามการคำนวณของโหราศาสตร์ เพราะในสมัยโบราณเรานับถือเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2432 ได้กำหนดให้ใช้ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะสอดคล้องกับธรรมเนียม ซึ่งก็คือวันสงกรานต์ นั่นเองละได้มีการใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่ของไทยแต่นั้นมาโดยตลอด และเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 คณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ เป็นสากลทั่วโลกและใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

วันสงกรานต์ ซึ่งชาวไทยได้ยกให้เป็นประเพณีไทย และยังถือว่าวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยในวันสงกรานต์จะมีการรดน้ำ เล่นรื่นเริง การรดน้ำดำหัว ในชนบทหลายแห่ง มีการละเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ กัน นอกจากจะมีการรดน้ำดำหัวแล้วอาจนำน้ำหอมเสื้อผ้าอาภรณ์ไปรดน้ำผู้ใหญ่ ญาติพี่น้องที่เคารพนับถือ ส่วนทางศาสนาก็จัดให้มีการบายศรีพระสงฆ์สมภารเจ้าวัด และสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ตามวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง

สงกรานต์ภาคเหนือ
หรือสงกรานต์ล้านนา หรือ "ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง" เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 – 18 เมษายน ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล 14 เม.ย. เป็นวันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี วันที่ 15 เม.ย. วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย ฯลฯ

สงกรานต์ภาคอีสาน
ส่วนใหญ่เป็นพิธีแบบเรียบง่าย เริ่มตั้ง 13 – 15 เมษายน ชาวอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ"ตรุษสงกรานต์" ชาวบ้านจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กัน

สงกรานต์ภาคใต้
ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์ภาคใต้ เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง วันที่ 13 เม.ย. จึงมีพิธี "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน 14 เม.ย. ทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป 15 เม.ย. "วันรับเจ้าเมืองใหม่" เป็นพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์
ตำนานวันสงกรานต์

กำเนิดวันสงกรานต์ มีเรื่องเล่าสืบ ๆ กันมา น่าจดนำไว้ดังจะขอคัดข้อความจารึกวัดเชตุพนฯ มากล่าวไประดับความรู้ของสาธุชนทั้งหลายดังต่อไปนี้

“เมื่อต้นภัทรกัลป์ มีเศรษฐีคนหนึ่ง มั่งมีทรัพย์มาก แต่ไม่มีบุตรบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุรา นักเลงสุรานั้นมีบุตร 2 คน ผิวเนื้อดุจทอง วันหนึ่งนักเลงสุราเข้าไปในบ้านของเศรษฐี แล้วด่าเศรษฐีด้วยถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ เศรษฐีได้ฟังจึงถามว่า ท่านมีสมบัติมากมายแต่หามีบุตรไม่ เมื่อท่านตายไปแล้วสมบัติจะอันตรธานไปหมดหาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะขาดทายาทผู้ปกครอง ข้าพเจ้ามีบุตรอยู่ถึง 2 คน และรูปร่างงดงามเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงดีกว่าท่านเศรษฐีครั้นได้ฟังดังนั้นก็เห็นจริงด้วย จึงมีความละอายต่อนักเลงสุรายิ่งนัก จึงนึกใคร่อยากได้บุตรบาง จึงทำการ บวงสรวงพระอาทิตย์ และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อขอให้มีบุตร อยู่ถึง 3 ปี ก็มิได้มีบุตรสมดังปรารถนา

เมื่อขอบุตรต่อพระอาทิตย์พระจันทร์มิได้ดังปรารถนาแล้ว อยู่มาวันหนึ่งถึงฤดูคิมหันต์จิตรมาส(เดือน 5 ) โลกสมมุติว่าเป็นวันสงกรานต์ คือ พระอาทิตย์ยกจากราศีมีนประเวสสู่ราศีเมษ คนทั้งหลายพากันเล่นนักขัตฤกษ์ เป็นการรื่นเริงขึ้นปีใหม่ ทั่วชมพูทวีป ขณะนั้นเศรษฐีจึงพาข้าทาสบริวารไปยังต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำอันเป็นที่อยู่แห่งปักษีชาติ ทั้งหลาย เอาข้าวสารซาวน้ำ 7 ครั้ง แล้วหุงบูชารุกขพระถไทรพร้อมด้วยสูปพยัญชนะอันประณีต และประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีต่าง ๆ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรจากรุกขพระไทร รุกขพระไทยมีความกรุณาเหาะไปขอบุตรต่อพระอินทร์เพื่อจะให้แก่เศรษฐี

พระอินทร์จึงได้ธรรมบาลเทวบุตร ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ บิดามารดาขนานนามว่า ธรรมบาลกุมาร แล้วจึงปลูกปราสาทขึ้นให้กุมารอยู่ใตต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำนั้น ครั้นกุมาเจริญขึ้น ก็รู้ภาษานกแล้วเรียนจบไตรเทพเมื่ออายุได้ 8 ขวบ และได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์ชาวชมพูทวีป ทั้งปวง ซึ่งขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม และกบิลพรหม องค์หนึ่งได้แสดงมงคลการแก่มนุษย์ทั่งปวง

เมื่อกบิลพรหมแจ้งเหตุที่ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่นับถือของมนุษย์ชาวโลกทั้งหลาย จึงลงมาถามปัญหาแก่ธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ความว่า

1.เวลาเช้า สิริคือราศีอยู่ที่ไหน

2.เวลาเที่ยง สิริคือราศีอยู่ที่ไหน

3.เวลาเย็น สิริคือราศีอยู่ที่ไหน


และสัญญาว่า ถ้าท่านแก้ปัญหา 3 ข้อนี้ได้เราจะตัดศีรษะเราบูชาท่าน ถ้าท่านแก้ไม่ได้ เราจะตัดศีรษะท่านเสีย ธรรมบาลกุมารรับสัญญา แต่ผลัดแก้ปัญหาออกไป 7 วัน กบิลพรหมก็กลับไปยังพรหมโลก

ฝ่ายธรรมบาลกุมารพิจารณาปัญหานั้นล่วงไปได้ 6 วัน แล้วยังไม่เห็นอุบายที่จะต้องปัญหาได้ จึงคิดว่าพรุ่งนี้แล้วสิหนอ เราจะต้องตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม เราหาต้องการไม่ จำจะหนีไปซุกซ่อนตนเสียดีกว่า คิดแล้วลงจากประสาทเที่ยวไปนอนอยู่ใต้ต้นตาล 2 ต้น ซึ่งมีนกอินทรี 2 ตัวเมียทำรังอยู่บนต้นตาลนั้น

ขณะที่ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นตาลนั้น ได้ยินเสียงนางนกอินทรีถามผัวว่าพรุ่งนี้ เราจะไปหาอาหารที่ไหน นกอินทรีผู้ผัวตอบว่าพรุ่งนี้ครบ 7 วัน ที่ท้าวกบิลพรหมถามปัญหาแก่ธรรมบาลกุมาร แต่ธรรมบาลกุมารแก้ไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะเสียตามสัญญาเราทั้ง 2 จะได้กินเนื้อมนุษย์คือธรรมบาลกุมารนั้นเป็นอาหาร นางนกอินทรีจึงถามท่านรู้ปัญหาหรือ ผู้ผัวตอบว่ารู้ แล้วก็เล่าให้นางนกอินทรีฟังตั้งแต่ต้นจนปลายว่า

1.เวลาเช้าราศีอยู่ที่หน้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า

2.เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่อก คนทั้งหลายจึงเอาน้ำและแป้งกระแจะจันทร์ลูบไล้ที่อก

3.เวลาเย็นราศีอยู่ที่เท้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า

ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นไม้ได้ยินการสนทนาของนกอินทรี ทั้ง 2 ก็จำได้ จึงมีความโสมนัสปีติยินดีเป็นอันมาก แล้วจึงกลับมาสู่ปราสาทของตน

ครั้นถึงวาระเป็นคำรบ 7 ตามสัญญา ท้าวกบิลพรหมก็ลงมาถามปัญหาทั้ง 3 ข้อ ตามที่นัดหมายกันไว้ ธรรมบาลกุมารก็วิสัชนาแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อ ตามที่ได้ฟังมาจากนกอินทรีนั้น ท้าวกบิลพรหมยอมรับว่าถูกต้อง และยอมแพ้แก่ธรรมบาลกุมาร และจำต้องตัดศีรษะของตนบูชาตามที่สัญญาไว้ แต่ก่อนที่จะตัดศีรษะ ได้ตรัสเรียกธิดาทั้ง 7 อันเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์คือ

1.นางทุงษะเทวี
2.นางรากษสเทวี
3.นางโคราคเทวี
4.นางกิริณีเทวี
5.นางมณฑาเทวี
6.นางกิมิทาเทวี
7.นางมโหธรเทวี


อันโลกสมมุติว่าเป็นองค์มหาสงกรานต์ กับทั้งเทพบรรษัทมาพร้อมกันแล้ว จึงบอกเรื่องราวให้ทราบและตรัสว่าพระเศียรของเรานี้ ถ้าตั้งไว้บนแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วโลกธาตุ ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง เจ้าทั้ง 7 จงเอาพานมารองรับเศียรของบิดาไว้เถิด ครั้นแล้วท้าวกบิลพรหมก็ตัดพระเศียรแค่พระศอส่งให้นางทุงษะเทวี ธิดาองค์ใหญ่ในขณะนันโลกก็เกิดโกลาหลอลเวงยิ่งนัก

เมื่อนางทุงษะมหาสงกรานต์ เอาพานรองรับพระเศียรของท้าวกบิลพรหม แล้วก็ให้เทพบรรษัทแห่งประทักษิณ เวียนรอบเขาพระสุเมรุราช 60 นาที แล้วจึงเชิญเช้าประดิษฐาน ไว้ในมณฑป ณ ถ้ำคันธธุลี เขาไกรลาส กระทำบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ พระวิศณุกรรม เทพบุตรก็เนรมิตโลงแก้ว อันแล้วไปดวยแก้ว 7 ประการ ชื่อ ภัควดีให้เทพธิดา และนางฟ้าแล้ว เทพยดาทั้งหลายก็นำมาซึ่งเถาฉมุนาตลงล้างน้ำ ในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วแจกกันสังเวย ทั่ว ทุก ๆ พระองค์ ครั้นได้วาระกำหนดครบ 365 วัน โลกสมมุติว่าปีหนึ่งเป็นวันสงกรานต์ นางเทพธิดาทั้ง 7 ก็ทรงพาหนะต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาเชิญพระเศียรของกบิลพรหม ออกแห่พรอมด้วยเทพบรรษัทแสนโกฏิประทักษิณ เวียนรอบเขาพระสุเมรุราชบรรพตทุก ๆ ปี แล้วก็กลับไปยังเทวโลก...”
กิจกรรมในวันสงกรานต์

เพราะวันสงกรานต์ที่เป็นประเพณีไทยแต่ในสมัยอดีตที่มีการสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมายในวันสงกรานต์ที่ตะทำให้พี่น้องชาวไทย ได้มีความสุขที่อยากจะร่วมสานประเพณีและอนุรักษ์ไว้ต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน

ทำบุญตักบาตร
การทำบุญตักบาตรในช่วงวันสงกรานต์ เป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การเป็นการนำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด แต่ก็มีหลายคนที่ถือเอาวันสงกรานต์ นิมนต์พระไปบังสุกุลกระดูกญาติผู้ใหญ่ที่ตายแล้ว และอาจจะทำทานต่อด้วยการ ปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า

การรดน้ำดำหัว

การรดน้ำในวันสงกรานต์เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมหรือน้ำอบ ซึ่งก่อนจะเล่นนำสงกรานต์ จะทำการสรงน้ำพระพุทธรูปตามวัด หรือรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน ส่วนการรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ โดยรดน้ำที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด การดำหัว คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ทำเพื่อแสดงว่าเราเคารพนับถือต่อผู้สูงอายุ

การปล่อยนกปล่อยปลา
ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายการปล่อยนกปล่อยปลาในวันสงกรานต์ถือว่าทำกันอาจจะเป็นประเพณีเลยทีเดียว ส่วนใหญ่เมื่อเข้าวัดมาแล้วก็ต้องทำบุญด้วยการปล่อยนกปล่อยปลา อานิสงส์ในการปล่อยนกปล่อยปลาถือว่ามีมาก การให้ชีวิตใหม่แก่สัตว์ที่ถูกจับมาทรมานถือว่าได้บุญมาก

การนำทรายเข้าวัด
วันสงกรานต์ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด เพราะ การนำทรายที่ติดเท้าออกวัด เป็นบาป จึงขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เป็นบาป

ก่อพระเจดีย์ทราย
เมื่อเข้าวัดมาแล้วเวลาเดินออกจากวัดจะมีเม็ดทรายติดเท้าออกไปด้วย เพื่อเป็นการเติมเต็มจึงมีการขนทรายเข้าวัดหรือการก่อพระเจดีย์ทรายที่เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกันทำเพราะตอนเย็นๆชาวบ้านก็จะพากันไปที่ท่าน้ำแล้วขนทรายกันมาคนละถังเพื่อนำทรายมาก่อเป็นพระเจดีย์ เพื่อที่จะให้ชาวบ้านมีความสามัคคีกลมเกลียว

เป็นกิจกรรมดีๆที่น่ารักษาให้อยู่คู่กับประเพณีสงกรานต์ให้ยาวนานและสืบต่อกันไป
ข้อควรระวังและสิ่งที่ไม่ควรทำในวันสงกรานต์

เพราะวันสงกรานต์มีประเพณีที่ดีงามมาตลอดตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ในปัจจุบันการเล่นน้ำสงกรานต์มักมีกิจกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสมและส่งผลกระทบต่อขนบธรรมเนียมประเพณีและความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งควรจะมีการป้องกันและแก้ไข เพื่อให้ประเพณีอันดีงามของเรานี้อยู่คู่คนไทยตลอดไป

การเล่นสาดน้ำอย่างรุนแรง
การใช้ปืนฉีดน้ำชนิดอัดแรงลม หรือการใช้น้ำสกปรก การขว้างปาถุงน้ำแข็งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บและอาจสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่มาร่วมเล่นน้ำในวันสงกรานต์

ลวนลามตอนประแป้ง
สมัยก่อนมีเพียงใช้แป้งค่อยๆ แปะที่หน้าแต่สมัยนี้แทบจะเรียกว่าเป็นการกระทำที่อนาจารไปแล้วเพราะการใช้มือลูบคลำใบหน้า และหน้าอก หรือสะโพกของผู้หญิงที่บางครั้งในมือไม่มีแป้งด้วยซ้ำ ทำให้มีการประกาศห้ามเล่นแป้งมาหลายปีแล้วแต่ก็ยังเห็นมีคนฝ่าฝืนอยู่

การประกวดเทพีสงกรานต์
การประกวดที่ไม่เหมาะสมเช่น แต่งกายด้วยชุดว่ายน้ำหรือประกวดเทพีสงกรานต์สาวประเภท 2 เพราะวันสงกรานต์เป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย การที่จะทำลายความเป็นไทยด้วยการสวมชุดที่ล่อแหลมเกินไปอย่างชุดว่ายน้ำถือว่าไม่เหมาะสม

ดื่มสุราขณะเล่นน้ำ
เพราะการดื่มสุราและของมึนเมา จะทำให้ขาดสติ และอาจทำอะไรลงไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะทำให้ทั้งตัวเองและคนรอบข้างเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะวิวาท การลวนลามสาวๆ หรือเมาแล้วขับ ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนที่มีทั้งคนเจ็บและคนตาย

ไม่เพียงแต่การเล่นน้ำอย่างเดียว หากแต่ความปลอดภัยในบ้าน เพราะจะต้องเดินทางออกไปเล่นสงกรานต์ที่ต่างจังหวัดหรือต้องค้างคืน การตรวจสอบความปลอดภัยให้เรียบร้อย ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ปิดแก๊สให้สนิท ตรวจว่ามีไฟดวงไหนที่ควรเปิดทิ้งไว้ ดวงไหนที่ควรปิด ปิดก๊อกน้ำให้สนิท แล้วก็สุดท้าย ล็อคบ้านให้แน่นหนา
แนวทางการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์

คนไทยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับประเพณีสงกรานต์เป็นอย่างมาก ถือเป็นประเพณีที่มีความผูกพันกับคนไทยมาอย่างยาวนาน ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยมีการรดน้ำ มีการละเล่นต่างๆ และกิจกรรมและการแสดงที่ผสมผสานของท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้คนไทยเกิดความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ส่งเสริมประเพณีอันดีงามนี้ให้ดำรงอยู่คู่คนไทยต่อไป

สุภาพในการรดน้ำ
การเล่นสาดน้ำโดยใช้น้ำสะอาด และเล่นอย่างสุภาพ เหมาะสมกับกาลเทศะ และไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ หรือละเมิดสิทธิด้วยการลวนลามผู้อื่นในวันสงกรานต์ ซึ่งในสมัยก่อนไม่ได้มีการเล่นที่รุนแรงมากเหมือนสมัยนี้ เพราะการใช้น้ำแข็งปาใส่ หรือ การใช้ปืนที่มีแรงอัดอย่างแรงฉีดไปที่อีกฝ่าย จะทำให้เกิดความเจ็บมากกว่าความสนุกซึ่งเมื่อไม่สนุก จะทำให้ไม่อยากให้มีใครมาเล่นน้ำวันสงกรานต์ ซึ่งจะทำให้ประเพณีนี้สูญหายไปอย่างน่าเสียดาย

ประเพณีไทยๆ
การเตรียมเครื่องนุ่งห่มชุดใหม่ที่สะอาดเรียบร้อย เพื่อไหว้บิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ รวมถึงการทำความสะอาดบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย บริเวณต่างๆในชุมชนที่อยู่ เช่น วัดวาอารามที่จะใช้เป็นสถานที่สำหรับทำบุญและที่สาธารณะต่างๆการละเล่นรื่นเริงอื่นๆ ตามประเพณีนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ

การส่งเสริมการเรียนรู้ประเพณีท้องถิ่น

เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลทั่วไปของประเพณีสงกรานต์ เอกลักษณ์และความแตกต่างของประเพณีสงกรานต์ในแต่ละภูมิภาคของไทย รวมถึงการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณค่าและสาระที่สำคัญของประเพณีและรูปแบบกิจกรรม การปฏิบัติที่เหมาะสมตามประเพณี การส่งเสริมการเรียนรู้ประเพณีท้องถิ่นทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียนรวมทั้งการศึกษา

ปลูกจิตสำนึกคนในท้องถิ่น
การอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์สืบสานให้ดำรงอยู่ต่อไป ด้วยการปลูกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าแก่สาระและความสำคัญของวัน สนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีสงกรานต์ สร้างจิตสำนึกของความเป็นคนในท้องถิ่นนั้นๆ ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ นำภูมิปัญญาและประเพณีที่กำลังสูญหายหรือที่สูญหายไปแล้วนำกลับมาทำให้มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต สร้างความรู้ความภาคภูมิใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การจัดให้เยาวชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับการจัดกิจกรรมวันสงกรานต์ที่มีคนเฒ่าคนแก่ร่วมด้วย

กิจกรรมสงกรานต์ที่ชาวไทยต้องช่วยกันร่วมกันอนุรักษ์ และส่งเสริมและสืบสาน ประเพณีอันดีงามนี้ให้ดำรงคงอยู่คู่คนไทยและสังคมไทยตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น